Loading...

หอประวัติ โรงพยาบาลเลิดสิน

Founder

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

โรงพยาบาลเลิดสิน ได้กำเนิดขึ้นมาพร้อมกับชุมชนเชื้อชาติต่าง ๆ บนถนนสีลม โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนที่ฝรั่งเดินทางมาค้าขายและพำนักอาศัย เนื่องจาก บางรัก มีท่าจอดเรือที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ มีเรือสินค้าจากทั่วโลกมาเทียบท่า รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบ้านหลวง ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลในปัจจุบัน ให้เป็นสถานพยาบาลสำหรับรักษาโรคแก่ชาวฝรั่งในปี พ.ศ. 2432 มีชื่อว่า โรงพยาบาลบางรัก แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า โรงพยาบาลหมอเฮส์ โดยมีนายแพทย์ ที เฮวาร์ด เฮส์ เป็นผู้อำนวยการคนแรกของโรงพยาบาล

นายแพทย์โธมัส เฮวาร์ด เฮส์ (Thomas Heyward Hays, M.D.)

นายแพทย์โธมัส เฮวาร์ด เฮส์ (หมอเฮส์) เกิดที่เมืองชาร์ลตัน มลรัฐ South Carolina เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ.๒๓๙๗ สืบเชื้อสาย Scot ศึกษาทางด้านเภสัชกรรม หลังจากนั้นเข้าศึกษาแพทย์ ณ มหาวิทยาลัยแห่งแมรี่แลนด์ ท่านได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติหน้าที่คือ...ประเทศสยาม ปฏิบัติงานเป็นศัลยแพทย์ร่วมกับคณะมิชชันนารี เดินทางมาถึงสยามได้ไม่นาน ท่านพบรักกับมิชชันนารีสาวชาวอเมริกันเชื้อสายเดนิช Miss Jennie B. Neilson ซึ่งเดินทางมาปฏิบัติงานร่วมกับคณะมิชชันนารีที่เพชรบุรี ท่านได้ริเริ่มก่อตั้งร้านขายยาแผนปัจจุบันชื่อ British Dispensary ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง ซึ่งคนไทยเรียกว่า “ห้างขายยาอังกฤษตรางู”

พ.ศ. ๒๔๓๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หมอเฮส์ใช้ “บ้านหลวง” ที่ปากถนนสีลมต่อกับถนนเจริญกรุงเป็น Nursing home มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “โรงพยาบาลบางรัก” สำหรับรักษาพยาบาลชาวต่างชาติที่มีแหล่งพำนักอยู่บนถนนสีลม ถนนเจริญกรุง นับตั้งแต่ย่านบางรักไปจนถึง สี่พระยา บนผืนดินแห่งนี้นี่เองที่ได้ผ่านวิวัฒนาการอันยาวนาน มาเป็นโรงพยาบาลเลิดสินในปัจจุบัน

พ.ศ. ๒๔๓๘ ขณะสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-โคราช คนงานล้มป่วยจากไข้จับสั่น ท่านเป็นผู้นำยาควินินมาใช้ในการป้องกันและรักษาไข้มาเลเรียแก่คนงาน ในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ ท่านได้รับยศ นาวาเอก ซึ่งนับว่าเป็นยศสูงสุดของราชนาวีไทยสำหรับแพทย์ชาวต่างชาติในสมัยนั้น

พ.ศ. ๒๔๖๔ นางเจนนี่ เสียชีวิต นางเจนนี่เป็นคนรักการอ่านและดูแลหนังสือต่างๆเป็นอย่างดี ภายหลังการเสียชีวิตของเธอ เพื่อเป็นการรำลึกถึงความรักและความทุ่งเทให้กับงานห้องสมุด หมอเฮส์ จึงได้บริจาคที่ดินบนถนนสุรวงศ์เพื่อตั้งเป็นห้องสมุด Neilson Hays Library (ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์) จนกระทั่งทุกวันนี้

วันเสาร์ที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๗ เสียชีวิตลงที่โรงพยาบาลบางรัก ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านที่ท่านได้พำนักอาศัยมาเป็นเวลานานเกือบ ๓๓ ปี สิริอายุ ๗๐ ปี

พระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) และ คุณหญิงภักดีนรเศรษฐ (สิน เศรษฐบุตร)

พระยาภักดีนรเศรษฐ เดิมชื่อ นายเลิศ เศรษฐบุตร เป็นนักธุรกิจผู้มีความคิดก้าวล้ำนำหน้าสมัยไม่เหมือนใคร เป็นผู้ริเริ่มบุกเบิกธุรกิจใหม่อย่างหลากหลาย ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อนในสยามประเทศ เป็นบุตรคนที่ ๒ ของ นายชื่น และนางทิพย์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๕ ด้วยดวงชะตาที่กล้าแข็งและคงเป็นที่รักของบิดาไม่น้อย ท่านจึงสร้อยต่อท้ายลูกชายคนกลางนี้ว่า “เลิศสมันเตา” หมายถึง ดีเลิศเหนือสิ่งที่อยู่โดยรอบ หรือดีไม่เหมือนใคร บ้างก็พูดเป็นคำแผลงว่า “เลิศสะแมนแตน” หมายถึง ของที่ดีเลิศหรู เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ น้ำท่วมใหญ่ ท่านได้ช่วยอพยพประชาชนและสัตว์เลี้ยง โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ความทราบถึงล้นเกล้า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “คุณพระ” คือ พระภักดีนรเศรษฐ หมายความว่า “เศรษฐีผู้มีแต่คนรัก” เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๘ ขณะอายุได้ ๕๓ ปี ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาภักดีนรเศรษฐ สำหรับตำแหน่งและบรรดาศักดิ์หากเรียกอย่างเต็มยศนั้น ต้องใช้คำว่า “เสวกตรี พระยาภักดีนรเศรษฐ” ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่ง ช้างเผือกชั้นจัตุรถาภรณ์ช้างเผือก จ.ช. ว.ป.ร.๔ี

พระยาภักดีนรเศรษฐ ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ สิริอายุ ๗๔ ปี โดยถือว่าทุกวันที่ ๑๕ ธันวาคม ซึ่งตรงกับวันสิ้นบุญ ถือเป็น “วันนายเลิศ”ี

คุณหญิงภักดีนรเศรษฐ เดิมชื่น สิน เป็นลูกสาวช่างทำทอง แห่งย่านตรอกสะพานยาว ถนนเจริญกรุง มีบุคลิกภาพเป็นกุลสตรี รูปร่างสูงโปร่ง ผมสั้น ห่มสไบจีน แต่งงานกับพระยาภักดีนรเศรษฐ เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๔๓๙ มีบุตรสาวคนเดียว คือ ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ ปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ เครื่องบินสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดแถวบางรัก อาคารแผนกสุขศาลาบางรักและแผนกสงเคราะห์แม่และเด็ก ถูกระเบิดทำลายลง คงเหลือแต่อาคารส่วนแผนกบำบัดกามโรค จึงจำเป็นต้องยุบเลิกกิจการรักษาโรคทั่วไปและกิจการสงเคราะห์แม่และเด็กี

ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ คุณหญิงภักดีนรเศรษฐ (สิน เศรษฐบุตร) ตระหนักถึงความเดือดร้อนและความจำเป็นของประชาชนในย่านนี้ จึงได้บริจาคเงินจำนวน ๑,๐๐๗,๗๐๐ บาท มอบให้กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการก่อสร้างตึกผู้ป่วย ๒ ชั้น ๒ หลัง และบ้านพักชั้นเดียว ๒ หลัง ในสถานที่เดิมที่ถูกระเบิดทำลายลง ทางด้านถนนศรีเวียง เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ พระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) สามีผู้ล่วงลับ กระทรวงสาธารณสุข ตั้งชื่อให้ใหม่ว่า “โรงพยาบาลเลิดสิน” เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ พระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) และคุณหญิงภักดีนรเศรษฐ (สิน เศรษฐบุตร) เปิดให้บริการผู้ป่วยทั่วไป เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๒ี

คุณหญิงภักดีนรเศรษฐ (สิน เศรษฐบุตร) ได้ประกอบคุณงามความดีอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากมาย จึงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎไทยในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ และตริตาภรณ์ช้างเผือก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ี

คุณหญิงภักดีนรเศรษฐ (สิน เศรษฐบุตร) ถึงแก่อนิจกรรมปี พ.ศ. ๒๕๐๐ สิริอายุ ๘๑ ปี