(ที่มา หนังสือสถาปนาครบรอบ 70 ปี โรงพยาบาลเลิดสิน)
ก่อนปี พ.ศ. 2547
การดูแลผู้ป่วยในห้องอุบัติเหตุและฉุกเฉินใน ประเทศไทยนั้น ดำเนินการโดยการใช้แพทย์แผนกต่างๆ มาหมุนเวียนกันมาปฏิบัติงานโดยส่วนใหญ่จะเป็นแพทย์ด้านศัลยกรรม เนื่องจากมีผู้ได้รับบาดเจ็บที่ต้องได้รับการดูแลเฉพาะทางด้านศัลยกรรม การบริหารงานนี้จะขึ้นตรงกับแผนกศัลยกรรม
ปี พ.ศ.2547
เนื่องจากมีความต้องการแพทย์เฉพาะทางที่สามารถดูแล ผู้ป่วยฉุกเฉินได้ ประเทศไทยจึงได้มีการริเริ่มการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินซึ่งใช้เวลาการฝึกอบรม โดยมีสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องการฝึก ต่อมามีเป้าหมายที่จะผลิตแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินให้ได้ 2.4 คน ต่อประชากร 100,000 คน
ในปีที่ประเทศไทยเปิดอบรมหลักสูตรแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลเลิดสินได้เปิดรับสมัครแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน มีอาจารย์ฝึกอบรม 8 ท่าน โดยมาจากกลุ่มงานศัลยกรรม 3 ท่าน กลุ่มงานกุมารเวชศาสตร์ 2 ท่าน กลุ่มงานอายุรศาสตร์ 2 ท่าน และกลุ่มงานสูตินรีเวชศาสตร์ 1 ท่าน มีอาจารย์ที่ได้รับอนุมัติบัตรสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คือนายแพทย์ชาญเวช ศรัทธาพุทธ นายแพทย์ทวีศักดิ์ ตรัยเวช นายแพทย์บุญชัย พิพัฒน์วนิชกุล และนายแพทย์เอกฤทธิ์ บุญศรีรักษ์สกุล โดยในปีแรกได้มีการเปิดรับการฝึกอบรมจำนวน 3 ตำแหน่ง แต่มีผู้เข้ารับอบรมเพียง 1 ท่าน คือนายแพทย์ ทรงศักดิ์ พิทักษ์รัตนานุกุล การฝึกอบรมในปีแรกๆ ใช้สถานที่ของงานอุบัติเหตุและฉุกเฉินกลุ่มงานศัลยศาสตร์ และใช้ทรัพยากรร่วมกับโรงพยาบาลของกรมการแพทย์ อันประกอบด้วยโรงพยาบาลราชวิถีและโรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี มีการหมุนเวียนไปตามโรงพยาบาลและ สถาบันต่างๆเช่นสถาบันสุขภาพเด็ก. มหาราชินี สถาบัน ทรวงอก สถาบันมะเร็งเป็นต้น
ปี พ.ศ.2551
แพทยสภาได้มีจัดตั้งสถาบันแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทยขึ้น โรงพยาบาลเลิดสินจึงได้มีการเปิดกลุ่มงานเวชศาสต์ฉุกเฉินโดย มีนายแพทย์ทวีศักดิ์ ตรัยเวช เป็นหัวหน้ากลุ่มงาน มีการ รวบรวมตำแหน่งจากกลุ่มงานต่างๆมาดูแล ทำให้การฝึกอบรมมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น การประเมินแพทย์ประจำบ้านที่จบการฝึกอบรมจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่แพทย์ไปปฏิบัติงานอยู่พบว่าเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง
ปี พ.ศ.2556
ได้มีการตรวจสถาบันเพื่อรับรองการฝึกแพทย์ประจำบ้าน โดยโรงพยาบาลเลิดสินได้ผ่านการรับรอง
ปี พ.ศ.2561
มีการเพิ่มศักยภาพการฝึกอบรมทำให้สามารถรับการ ฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านได้เพิ่มขึ้น จาก 3 เป็น 4 คน
ปี พ.ศ. 2563
วิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทยได้เสนอผลการตรวจประเมินแผนการฝึกอบรมสาชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลเลิดสิน ให้แพทยสภาพิจารณา และได้รับการรับรองมาตรฐานและคุณภาพการฝึกอบรมของแผนการฝึกอบรมสาชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน (มคว.3) เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563
ปัจจุบัน
กลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉินมีอาจารย์แพทย์ที่จบวุฒิบัตร เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินทั้งหมด 6 ท่านด้วยกัน