Loading...

หอประวัติ โรงพยาบาลเลิดสิน

People

นายแพทย์ไชยสิทธิ์ อินทุวงศ์ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์

       “โรงพยาบาลเลิดสิน เป็นโรงพยาบาลของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นโรงพยาบาลรักษาโรคทั่วไป ส่วนใหญ่ของผู้ที่มารับบริการจะเป็นโรคทางอุบัติเหตุจากการจราจรทางบก อุบัติเหตุในโรงงานและโรคกระดูก ในขณะนั้นโรงพยาบาลมีแพทย์จำนวนน้อย ข้าพเจ้าหลังจบการศึกษาแพทยศาสตร์จากโรงพยาบาลศิริราช ได้มีโอกาสฝึกอบรมศัลยกรรมทั่วไป และศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ (อาจารย์นายแพทย์เฟื่อง สัตย์สงวน และอาจารย์นายแพทย์นที รักษ์พลเมือง) เป็น เวลา ๖ ปี พ.ศ.๒๕๐๒ – ๒๕๐๘ ได้โอนมารับราชการที่โรงพยาบาลเลิดสิน ขณะนั้นแพทย์ทางโรคกระดูกมีน้อย ผู้ป่วยใน กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดจึงมารับการรักษา ทำให้มีงานมาก และโรงพยาบาลต่างจังหวัดได้ส่งผู้ป่วยมารักษาต่อที่โรงพยาบาลเลิดสินด้วย
        มีการฝึกอบรมแพทย์ พยาบาลทางออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด ประชุมวิชาการ ผู้ริเริ่มให้กำเนิด คือ อาจารย์นายแพทย์คง สุวรรณรัต ท่านได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมออร์โธปิดิกส์คนแรกแห่งประเทศไทย ซึ่งขณะนั้นท่านเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน โดยมีอาจารย์นายแพทย์ประดิษฐ ศักดิ์ศรี ซึ่งท่านได้ไปศึกษามาจากประเทศเยอรมนี เป็นผู้วางรากฐานทำให้โรงพยาบาลเลิดสินมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไปทางด้านอุบัติเหตุ การปฏิบัติงานจึงต้องทำทั้งการให้การบริการ รักษา และทางด้านวิชาการ ศึกษาอบรมแพทย์เฉพาะทางออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด การนิเทศงานโรงพยาบาลในส่วนภูมิภาคแก่แพทย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ จัดหลักสูตรฝึกอบรม เช่น การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากอุบัติเหตุการจราจรทางบก, พาณิชย์นาวี ด้วยความร่วมมือจากแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ ทำให้มีความเจริญก้าวหน้า จนได้รับการสนับสนุนให้เป็นสถาบันออร์โธปิดิกส์ต่อมา
        บุคลากรทางการแพทย์นั้นควรจะต้องมีจริยธรรม คุณธรรม บริการผู้ป่วยให้ดีที่สุด สิ่งที่ไม่รู้ต้องหาความรู้เพิ่มเติมเพราะการศึกษาไม่มีที่สิ้นสุด”


ตำแหน่งที่ดำรงในโรงพยาบาลเลิดสิน
ดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิ สาขาศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์
ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าแผนกออร์โธปิดิกส์ ปี พ.ศ.๒๕๒๔-๒๕๓๔
ดำรงตำแหน่ง ประธานฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางออร์โธปิดิกส์

ผลงานเด่นๆ ในโรงพยาบาลเลิดสิน
๑. ผลงานตีพิมพ์เรื่อง “Intuwongse CS: Reconstruction following en bloc resection of a giant cell tumor of the distal radius using a vascularized pedicle graft of the ulna. ใน J Hand Surg Am. 1998 Jul; 23(4): 742-7”
๒. ได้รับการอ้างอิง เป็น Reference in Text Book “Campbell’s operative orthopaedics, twelve edition, 2013 page 858.e3”
๓. ผลงานตีพิมพ์เรื่อง The demographics of slipped capital femoral epiphysis. An international multicenter study. ใน Clin Orthop Relat Res. 1996 Jan;(322):8-27. โดยได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนจากทวีปเอเชียและประเทศไทยเพียงคนเดียว เป็น Coinvestigators จาก ๓๓ สถาบันทางด้านออร์โธปิดิกส์ ใน ๖ ทวีป
๔. ได้รับ Recognition of Global Achievement จาก International Biographical Centre, Cambridge England.
๕. ได้รับ America Hall of Fame จาก American Biographical Institute USA.
๖. ได้รับโล่เชิดชูเกียรติ ผลงานดีเด่นระดับนานาชาติ ในโอกาสวันสถาปนากรมการแพทย์ ครบ ๗๔ ปี

คติประจำใจ
ต้องทำความดีเพื่อตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน