Loading...

หอประวัติ โรงพยาบาลเลิดสิน

People

นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ วัฒนา อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน พ.ศ. ๒๕๓๗ - พ.ศ. ๒๕๔๒

       “สมัยที่เริ่มทํางานในปี พ.ศ.๒๕๑๖ ใหม่ๆ มีคนมาบอกผมว่า โรงพยาบาลเลิดสินเหมือนโรงพยาบาลบ้านนอกที่มาตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ จริงหรือไม่จริงไม่ทราบ รู้แต่เป็นโรงพยาบาลที่ประชาชนใช้บริการมากมาย โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับกระดูก พอเริ่มทำงานก็รู้สึกว่าถูกใจผมมาก ผมทําผ่าตัดกระดูกหักเกือบทุกวันทั้งในเวลาและนอกเวลาทําการโดยไม่มีค่าตอบแทนเลย ทํางานด้วยความรักในวิชาชีพที่ไม่มีโอกาสได้ทํา เหมือนอยู่ในประเทศอเมริกา ผมทําการผ่าตัดด้านกระดูกหักโดยเฉพาะบริเวณมือ ซึ่งเป็นสาขาที่ผมรักมากที่สุดในชีวิต ทําให้โรงพยาบาลเลิดสินมีชื่อเสียงโด่งดัง ทางด้านศัลยแพทย์ทางมือ และเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมก่อตั้งชมรมศัลยแพทย์ทางมือแห่งประเทศไทย และก่อตั้งสถาบันฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางออร์โธปิดิกส์ของกรมการแพทย์ ในโรงพยาบาลเลิดสินเป็นแห่งแรก ขณะเดียวกันได้มีโอกาสออกไปนิเทศงานทางด้านออร์โธปิดิกส์ โดยให้ความรู้กับแพทย์ในต่างจังหวัดทั่วประเทศ ปีละหลายรอบ เป็นความสุขใจที่มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างชื่อเสียงให้กับโรงพยาบาลเลิดสิน”



ตำแหน่งที่ดำรงในโรงพยาบาลเลิดสิน
ดำรงตำแหน่ง แพทย์ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ ที่ฝ่ายออร์โธปิดิกส์เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖
ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถาบันออร์โธปิดิกส์เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖-๒๕๓๙
ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗-๒๕๔๒

ผลงานเด่นๆ ในโรงพยาบาลเลิดสิน
๑. พ.ศ.๒๕๑๘ เป็นผู้ริเริ่มการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน สาขาออร์โธปิดิกส์ ของโรงพยาบาลเลิดสิน โดยในช่วงก่อตั้ง รับแพทย์ประจำบ้านปีละ ๒ คน ในปัจจุบันมีแพทย์ประจำบ้านออร์โธปิดิกส์ปีละ ๑๐ คน
๒. ประธานราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๔๐-๒๕๔๒
๓. มีการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐาน ณ โรงพยาบาลเลิดสิน เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๑
๔. กรรมการแพทยสภาจากการเลือกตั้ง ๒ สมัย (พ.ศ.๒๕๔๓-๒๕๔๖) และดำรงตำแหน่งอุปนายกแพทยสภา
๕. รางวัลนักบริหารดีเด่นของสมาคมนักบริหารโรงพยาบาลแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๔๓

คติประจำใจ
รับผิดชอบในการทำหน้าที่อย่างดีที่สุด
ใช้หลักธรรมาภิบาล ในการบริหารสถาบัน
ทุ่มเทด้วยความเพียรพยายาม นำสถาบันไปสู่ความสำเร็จ